Black Mirror จะเป็นอย่างไรหากโลกพัฒนาไปไกลถึงขั้นที่สามารถเรียกความทรงจำตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาฉายซ้ำ ๆ ได้ตลอดเวลา กระทั่งการก๊อบปี้ตัวเองด้วยนวัตกรรมอย่าง “คุกกี้” แต่ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ดำเนินไปไกลเกินการควบคุมของมนุษย์และย้อนกลับมาทำลายเราเสียเองล่ะ ?
คำถามนี้ถูกนำมาต่อยอดเป็นหลายเรื่องราวน่าสนใจจากซีรีส์ของ Netflix เป็นเสมือนกระจกสะท้อนด้านมืดของสังคมอุดมเทคโนโลยีที่มีทั้งความสนุกและการสอดแทรกประเด็นเสียดสีสังคมไว้อย่างเผ็ดร้อนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราจะยกตัวอย่างมาพูดถึงในบางตอน
Black Mirror เริ่มกันที่ซีซั่นที่ 1 ตอนที่ 1 : เพลงชาติ (The National Anthem)
หากมองอย่างผิวเผินอาจรู้สึกว่า ตอนนี้ไม่ได้เล่าเรื่องที่เป็นสังคมไซเบอร์ขนาดนั้น แต่เส้นเรื่องของตอนเสียดสีสังคมปัจจุบันได้แสบคันชนิดที่ว่า หลาย ๆ คนยกให้เป็นมาสเตอร์พีซเลยก็ว่าได้ เพลงชาติเล่าถึงเจ้าหญิงที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันโดยมีเงื่อนไขในการปล่อยตัวด้วยการให้นายกรัฐมนตรีมีเพศสัมพันธ์กับหมูออกอากาศทางโทรทัศน์แบบสด ๆ
โจรลักพาตัวบีบบังคับนายกฯ ด้วยการโพสต์ข้อเสนอลงในยูทูบ ในที่สุดนายกฯยอมทำตามข้อตกลง เขาได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนถึงความเสียสละ เจ้าหญิงถูกปล่อยตัว แต่นายกฯสูญเสียความสัมพันธ์ในครอบครัวไปอย่างไม่มีวันกลับ และคลิปวิปริตนั้นถูกบันทึกไว้ในโซเชียลมีเดียไปตลอดกาล
ถัดมาที่ซีซั่นที่ 2
โดยภาพรวมเป็นซีซั่นที่ทำได้ไม่ค่อยดีนัก เว้นแต่ตอนสุดท้ายที่สร้างความฮือฮาให้กับคอซีรีส์อย่างมากถึงความล้ำของเทคโนโลยี และการเล่าเรื่องที่หลายเสียงต่างพูดตรงกันว่า พลอตระดับนี้สามารถแยกไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้อย่างสบาย ๆ โดยแบ่งเป็น 3 พาร์ต คือ
- พาร์ตแรก คริสต์มาสสีขาว (White Christmas) เล่าถึงเทคโนโลยีที่แมตทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้าน การจีบสาวให้ชายหนุ่มคนหนึ่งในงานปาร์ตี้ โดยมีสักขีพยานทางโซเชียลมีเดียร่วมลุ้นเชียร์ไปกับแมตตลอดคืน
- พาร์ตที่สองเป็นเทคโนโลยีในการดึงจิตใต้สำนึกมาเก็บไว้ใน “คุกกี้” เพื่ออำนวยความสะดวกเจ้าของคุกกี้เอง และ
- พาร์ตที่สาม เล่าเรื่องเทคโนโลยีการบล็อก ซึ่งผู้บล็อกและผู้ถูกบล็อกจะไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้อีกจนกว่าผู้บล็อกจะปลดบล็อก
ตอนนี้เล่าถึงเทคโนโลยีได้อย่างสนุก ครบรส และชวนติดตามตลอดทั้งเรื่อง การวางโครงเรื่องที่ชวนให้ติดตามตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนท้ายของเรื่องที่เซอร์ไพรส์คนดูสุด ๆ ทำเอาเราคาดเดาตอนจบแทบไม่ได้ เรียกได้ว่า สับขาหลอกคนดูได้อย่างอยู่หมัด
ในส่วนซีซั่นที่ 3 วาระแห่งความเกลียดชัง (Hated in the Nation)
ตอนสุดท้ายของซีซั่น เสียดสีสังคมโซเชียลมีเดียอย่างตรงไปตรงมา บวกกับพลอตเรื่องที่แข็งแรงไม่แพ้คริสต์มาสสีขาว จนแฟนซีรีส์หลายคนออกปากว่า อยากให้แยกตอนนี้ออกมาสร้างภาพยนตร์ด้วยเช่นเดียวกัน
วาระแห่งความเกลียดชังพูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ในการระดมผู้คนที่มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อตั้งศาลเตี้ยขึ้นมาตัดสินการกระทำที่พวกเขาเห็นตรงกันว่า บุคคลนั้นไม่สมควรได้รับการให้อภัย จุดพีกของเรื่องคือการใช้ผึ้งยนต์ซึ่งแต่เดิมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ แต่กลับถูกดึงมาใช้ในการแก้แค้นและนำไปสู่การฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น
ต้องชื่นชมองค์ประกอบของตอนนี้เลยว่า ทำได้ดีมาก ทั้งการเสียดสีการใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบัน การรุมวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงผ่านตัวอักษร การใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) อย่างสาดเสียเทเสียโดยที่เราเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นเลยว่า ความเกลียดชังเหล่านี้จะนำไปสู่ความเสียหายเป็นวงกว้างอย่างร้ายแรง
มาถึงซีซั่นที่ 6 แม้ว่าหลายเสียงจะบอกว่า แบล็ก มิร์เรอร์ หมดมุขไปกับตั้งแต่ซีซั่นที่ 3 – 4 แล้ว
แต่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า แบล็ก มิร์เรอร์ยังคงทำได้ดีในซีซั่นนี้ การเล่นประเด็นอย่างเจ็บแสบอาจไม่เท่าซีซั่นก่อน ๆ ก็จริง แต่ประเด็นเรื่องความสร้างสรรค์ของเทคโนโลยีในแต่ละตอนซีซั่นนี้ยังคงทำได้ดีตามมาตรฐานซีรีส์เช่นเคย ยังใครที่ชื่นชอบแนวด้านมืดของมนุษย์ ห้ามพลาด!
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก prachachat